วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

04: สโลแกนนักรบธรรม

คล่องแคล่ว ว่องไว ไร้เสียง เสี่ยงตาย มุ่งหมายพระนิพพาน


เรียน ครูชาติและเพื่อนนักรบธรรม

สโลแกนของนักรบธรรม คล่องแคล่ว ว่องไว ไร้เสียง เสี่ยงตาย มุ่งหมายพระนิพพาน ที่ครูชาติบอกกล่าวฝากถึงผม เป็นประโยคที่มีนัยยะความหมาย อันทรงคุณค่า ที่พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตามอบให้กับศิษย์ ผมนำมาพิจารณาในเชิงปริศนาธรรม ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์นับแต่โบราณมักจะตั้งปุจฉา ให้ศิษย์วิสัชนา มันมีคำตอบในใจผมที่อยากแบ่งปันเพื่อนนักรบธรรม ในมุมมองหนึ่ง ดังจะขอวิสัชนาในปุจฉาของพ่อแม่ครูอาจารย์ดังนี้ครับ คล่องแคล่ว ว่องไว ไร้เสียง นั้นคือ จิต อันประกอบด้วยสติ ที่มีสมาธิตั้งมั่น รับรู้อยู่ในความสงบ(ไร้เสียง) เป็นจิตที่ควรแก่การงาน มีความคล่องแคล่ว ว่องไวในการรับรู้ มองเห็นทุกสิ่งที่รับรู้ตามความเป็นจริง นั้นคือทุกสิ่งอยู่ในกฏแห่งไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) คือมีความไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพสภาวะเดิมไม่ได้ ไม่อาจบังคับควบคุมให้คงอยู่อย่างนั้นได้ เมื่อจิตเห็นความจริงนั้นอยู่เนืองๆ จะเบื่อหน่าย ค่อยๆปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น จิตจักมีความกล้า ไม่มีความกลัว เพราะปล่อยวางความยึดถือแม้รูปร่างกาย นั้นคือในความหมายของคำว่าเสี่ยงตาย ส่วนคำว่ามุ่งหมายพระนิพพาน นั้นเมื่อจิตไม่ข้อง ไม่เข้าไปเจ้ากี้เจ้าการกับสิ่งที่รับรู้ รู้ก็สักแต่ว่ารู้ จิตมีสติตั้งมั่นอยู่ ไม่ไหลเข้าไปในอารมณ์นั้น ปล่อยวางความยึดถือหมายมั่น จิตก็มุ่งตรงเข้าสู่อริยมรรค ที่จะดำเนินไปสู่อริยผลต่อไป
คำตอบในความหมายที่แท้จริงนั้น ต้องรับฟังจากพ่อแม่ครูอาจารย์ครับ ผมเป็นเพียงผู้นำถ้อยคำมีความหมาย ลึกซึ้ง จับใจและทรงคุณค่าสำหรับผม สนทนาแบ่งปันกับญาติธรรม หมู่เพื่อนนักรบธรรม เป็นเมตตาของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ ชี้ทางให้ศิษย์ได้เห็นสัจจธรรมที่มุ่งสู่อริยมรรค อริยผล และศิษย์ผู้น้อยด้อยปัญญาผู้นี้แม้อาจพอเข้าใจ แต่ก็ยังมิอาจเข้าถึง ต้องขอความเมตตาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ช่วยสงเคราะห์ต่อไป
ขอเจริญในธรรมครับ


ในคำวิสัชชนาของท่านภูเบศวร์นั้น ผมเห็นชอบด้วยนะครับ ขอโมทนาสาธุ
สำหรับคำวิสัชชนาของผม...ในอีกมุมมองมีดังนี้
1. คล่องแคล่ว ว่องไว: คือการจะทำการหรือทำงานใดๆก็แล้วแต่ ต้องมีความรวดเร็ว ฉับไว มีสติกำกับเสมอ คำว่างานในที่นี้ คืองานหลักกับงานรอง งานหลักคืองานอะไรก็แล้วแต่ที่มุ่งสู่กระแสแห่งองค์มรรค 8 ส่วนงานรองก็คืองานอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ภายใต้สภาวะของโลกธรรม 8

2. ไร้เสียง: ต่อเนื่องจากข้อ 1 แต่คำว่าไร้เสียงในที่นี้ จะกินความไปถึงความเงียบ ความสงบ ซึ่งแน่นอนว่า...การจะทำการใดๆหรือทำงานใดๆ ก็จะต้องมีสติกำกับ ให้ก่อเกิดทั้งความสงบทางกาย (ภายนอก) และความสงบทางใจ (ภายใน)

3. เสี่ยงตาย: สรรพสิ่งในโลกต่างล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ มุ่งสู่การดับไป(ดับ=ตายไปจากสภาพเดิม เกิดเป็นอีกสภาพใหม่)อยู่เสมอ บางอย่างเกิด-ดับช้า บางอย่างเกิด-ดับเร็ว หากได้ปัญญาจากงานหลักในข้อ 1 มาพิจารณาการเกิด-ดับอยู่เนืองๆ ก็จักมองเห็นว่า...เป็นธรรมดา ก็สมควรจักเหนื่อยหน่ายคลายถอน และพร้อมที่จะผจญกับความตายในที่สุด

4. มุ่งหมายพระนิพพาน: เมื่อเข้าใจในความหมายของข้อ 3. แล้ว ว่าจะต้องเกิดขึ้นกับทุกๆสรรพสิ่ง(รวมทั้งตัวเราเองด้วย) ก็จักต้องทำงานหลักในข้อ 1. ให้เป็นจริงขึ้นมา โดยการดำเนินตามครรลองแห่งมรรค 8 ก็เพื่อให้พ้นจากสภาพของข้อ 3. นั่นคือเสี่ยงตาย ซึ่งจะไม่มีให้เห็นอีกแล้วใน...พระนิพพาน
นิพพานัง ปรมัง สุขัง : การเข้าถึงพระนิพพาน เป็นความสุขอย่างยิ่ง

ขออนุโมทนาสาธุกับวิสัชนาของท่านภูเบศร์และท่านสมบัติ ผู้เจริญในธรรมย่อมเป็นดั่งนี้แล ท่านกล่าวถูกต้องแล้วทุกประการครับ

ปริศนาธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์หรือผู้พ้นแล้ว ย่อมมีความหมายต่อภูมิธรรมของเหล่าบรรดาลูกศิษย์ที่พึงจะเข้าใจตามบุญบารมีและบุญวาสนาที่สั่งสมมาด้วย บางคนสั่งสมฤทธิ์มามากก็อาจเข้าใจธรรมนี้ได้ช้าหน่อย ผู้ใดสั่งสมมาทางด้านปัญญาโดยอาศัยวิปัสนาเป็นหลักก็มักเกิดปัญญาสามารถรับรู้ในอุบายธรรมนั้นได้ไม่ยาก และแต่ละบุคคลสามารถนำมาพิจารณาได้หลากหลาย

พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านได้แสดงธรรมให้เหล่านักรบธรรมได้ดูตั้งแต่การขึ้นภูภาผึ้งแล้ว หากใครสังเกตจะเข้าใจได้ไม่ยาก แม้ทางกายภาพท่านแสดงให้เห็นความคล่องแคล้วและว่องไวในการเดิน การไต่หน้าผาอย่างรวดเร็ว ไม่เหน็ดเหนื่อย แม้ร่างกายของท่านจะรับอาหารเพียงมื้อเดียว แต่การฝึกของท่านกลับทำให้ท่านมีพละกำลังมากกว่าพวกเราที่อยู่ดีกินดีมากมายนัก ความคล่องแคล้วว่องไวยังรวมไปถึงสติระลึกรู้อย่างที่ท่านภูเบศร์กล่าวไว้นั้นยิ่งสำคัญ เมื่อกายคล่องแคล้วว่องไวแล้ว จิตก็ต้องยิ่งคล่องแคล้วว่องไวเป็นหลายเท่านัก รวดเร็วในการเข้าการออกฌาน รวดเร็วในการใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาและอุปสรรคในทุกขณะจิต รวดเร็วในการรับรู้ รวดเร็วในการละวาง รู้แล้ววางทันที เราจะเห็นได้ว่า นิสสัยของพระอรหันต์สามารถตัดและละวางความโกรธที่เข้ามาปะทะได้ทันทีจึงไม่เหลือความโกรธใดๆอีกเลย ส่วนนิสสัยของปุถุชนอาจใช้เวลาในการละวางความโกรธเป็นปี เดือน อาทิตย์ วัน ส่วนสามัญชนอาจละวางได้เร็วขึ้นภายในชั่วโมง ส่วนอริยบุคคลอาจละวางได้ภายในนาทีหรือวินาที

ไร้เสียง ผู้รู้มากยิ่งนิ่ง ความรู้เกิดในใจไม่ต้องอธิบายหรือพูดออกมาให้คนอื่นได้ยินก็ได้ ยกเว้นเมื่อถึงคราแสดงธรรมจึงค่อยแสดงออกมา ผู้พ้นแล้วหรืออริยบุคคลแค่มองกันก็รู้ความในไม่ต้องใช้เสียง บางทีความนิ่งความสงบที่ไร้เสียงช่วยทำให้เกิดสมาธิและเกิดปัญญาญาณได้เร็วขึ้น แต่หากเราได้ยินเสียงดังรอบกายของเราก็จงตัดเสียงนั้นด้วยการไม่ยึดติดในเสียง ฝึกไปเสียงนั้นก็จะหายไปเอง (เสมือนมีแขกมาบ้านเรา หากเราไม่ยินดีไปเปิดประตูต้อนรับ สักพักเขาก็จะกลับไปเอง) ให้พิจารณาที่อายตนะทั้งหมด การติดต่อกันทางจิตก็เป็นคลื่นที่ไร้เสียง จงเดินไปให้ถึงตรงนั้น แล้วจะเข้าใจได้ว่า การไร้เสียงนี้มันวิเศษมากมายขนาดไหน หลายๆคนเริ่มเข้าสู่สภาวะการสื่อสารทางจิตกันแล้วครับ ต่อไปอาจจะมีภาพตามมา ส่วนเสียงนั้นคุยกันด้วยภาษาจิตครับ

ไร้เสียงอีกประการหนึ่งคือ ยิ่งไร้เสียง ยิ่งเสียงดัง....

เสี่ยงตาย วันที่เดินขึ้นภูผาผึ้งนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ได้แสดงธรรมให้รู้ว่า ท่านมักไปนั่งภาวนาตรงชะง่อนหน้าผาแบบหมิ่นเหม่ เพื่อฝึกจิตไม่ให้ประมาทหรือเผลอหลับไป ท่านกล้าเสี่ยงตายเพื่อการละวางกิเลสทั้งหลายทั้งมวล ถ้าเราพิจารณาถึงความตายอยู่ทุกวัน ความกลัวตายในลูกพระพุทธเจ้าย่อมไม่มี เสี่ยงตายเพื่อความหลุดพ้นย่อมคุ้มค่ามากกว่าสิ่งใดๆ แต่จิตใจของท่านต้องเข้าถึงสภาวะอันควรก่อนนะครับ ถึงจะไปเสี่ยงอย่างท่านได้ เสี่ยงตายเพื่อละวางกิเลส มิได้เสี่ยงตายเพื่อยึดเอาถือเอา

มุ่งหมายพระนิพพานนั้น เป็นหัวใจของลูกพระพุทธเจ้า แม้บุคคลใดจะปรารถนาพุทธภูมิ อรหันตภูมิ ก็ย่อมปรารถนาพระนิพพานเป็นที่สุดของชีวิต การบำเพ็ญบารมีใช้ตัวเดียวกันทั้งหมดทั้งพุทธภูมิและอรหันตภูมิ ไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน ต้องบำเพ็ญทศบารมีให้เต็ม ละสังโยชน์ทั้งสิบให้หมดเช่นกัน เพียงแต่ระยะเวลาในการเข้าสู่พระนิพพานนั้นต่างกัน แม้พวกเราจะปรารถนาติดตามองค์พุทธะพระองค์ใด เราก็ต้องมุ่งหมายพระนิพพานอยู่ทุกลมหายใจ มิใช่จะรอไปปฏิบัติเพื่อพระนิพพานในพุทธกัปในอนาคต เมื่อเข้าถึงได้ในภพนี้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามอะกาลิโก หากเข้าถึงไม่ได้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ และตามคำอธิษฐานต่อไป หากลาไม่ได้ในภพนี้ เราก็ยังบำเพ็ญเพื่อพระนิพพานอยู่เช่นเคยไม่ย่อหย่อน ไม่ประมาทตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ประเสริฐยิ่งแล้ว จิตที่มุงพระนิพพานจะสงบเยือกเย็น ไม่หวนกลับไปสู่กระแสร้อนอีกต่อไป

ขอให้เหล่านักรบธรรม จงเป็นคนช่างสังเกต ฝึกวิปัสสนาทุกสถานการณ์แม้แต่เวลาทำงาน ก็สามารถทำได้โดยมีสะติระลึกรู้ว่ากำลังทำอะไร แล้วจิตมันจะเรียนรู้เอง ปัญญาญาณจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ผู้ใดมีจริตมาทางเจโตวิมุติ ก็จงใช้หลักวิปัสสนาในสมาธิให้มากขึ้น

ปริศนาธรรมหนึ่ง สามารถแตกรู้ไปได้หลากหลาย การบรรลุธรรมในปริศนาธรรมข้อเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องตีความได้เพียงข้อเดียว ดั่งที่ท่านทั้งสองได้แสดงเป็นตัวอย่างข้างต้นนั้นแล

ขอเจริญในธรรม
ดร.นนต์
Nontyan: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-219.html#post5062454

วิสัชนาของศิษย์พี่ทั้งสอง ได้ให้แง่มุมและมุมมองที่ละเอียดลึกซึ้งและกว้างขวาง
สิ่งสิ่งเดียวกัน ยืนอยู่คนละด้านก็เห็นแตกต่างกัน เมื่อนำความเห็นมารวมกันก็ทำให้ได้รายละเอียดหลายด้าน ยิ่งมีหลายคนมามองสิ่งเดียวกันต่างก็ให้ความเห็น เมื่อนำความเห็นนั้นมารวมกันก็ยิ่งได้รายละเอียดทุกด้าน ก็ยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้น
หากเปรียบกับวิธีการปฏิบัติ ก็มีวิธีที่หลากหลายที่จะไปยังจุดๆเดียวกัน สุดแล้วแต่ใครถนัดทางไหน วิธีไหนถูกกับจริตตน ดังคำที่ดร.นนท์กล่าว ต้องหาตัวเองให้เจอ หาจริตตนให้พบ
หรือดังคำของดร.ณัฐชัย
ที่ท่านได้ให้คำแนะนำที่เข้าใจง่ายว่ต้องขึ้นรถไฟให้ถูกขบวน จะไปจังหวัดไหนก็ต้องขึ้นรถไฟที่ไปจังหวัดนั้น
ขออนุโมทนาบุญกับท่านทั้งสามด้วยครับ


phoobes: http://board.palungjit.org/f131/หลวงปู่แหวนมาโปรดในนิมิตร-ฝัน-231506-220.html#post5063571