วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

50: จาก "ปฏิปทา" สู่ "พระโสดาบัน"

คำสอนขององค์พ่อแม่ครูอาจารย์ พ.สุรเตโช
จาก "ปฏิปทา" สู่ "พระโสดาบัน"

...บุคคลที่จะเดินตามรอยครูบาอาจารย์ได้ ต้องสามารถที่จะเอาปฏิปทาของท่านไปดำเนิน สามารถที่จะบอกต่อๆกันไป ว่าครูบาอาจารย์ท่านนี้ๆ มีปฏิปทาอย่างนี้ ธรรมของท่านแสดงไว้อย่างนี้ เมื่อเข้าใจก็สามารถที่จะช่วยครูบาอาจารย์ได้อีกส่วนหนึ่ง ถ้าเรายังไม่เข้าใจหรือเข้าใจแต่ตนเอง แต่ไม่เข้าใจถึงตัวท่าน ยังไม่เข้าใจปฏิปทาของท่าน ยังเดินตามรอยของท่านยังไม่ได้ อันนี้ความคลาดเคลื่อนยังมีมาก

ศิษย์กับอาจารย์ ต้องเห็นกันด้วยจิต ลงกันด้วยกายและก็ด้วยวาจา ต้องเป็นไปด้วยความนอบน้อม ต้องไว้ใจกันได้ ตายใจกันได้ ต้องแทนกันได้ เวลาท่านลับไป บุคคลเอาปฏิปทาของท่านไปดำเนิน ธรรมะของท่าน ปฏิปทาของท่าน มันจะไม่ตายไปด้วย

หากเราไม่ตั้งใจอยากได้แต่ธรรมอย่างเดียวไม่ได้ดอก "เพราะว่าปฏิปทาทั้งหลายนั่นแหละคือธรรมอันสุดยอด" ไม่อย่างงั้นพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าคงไม่มี ถ้าท่านจะสอนเพียงแค่ธรรมอันบรรลุอย่างเดียว ท่านไม่วางวินัยไว้ ไม่วางศีลไว้ ไม่วางกฏระเบียบไว้ ให้ลูกหลานชาวพุทธได้เดินตาม ใครก็อยากจะพ้นทุกข์ ไม่อย่างงั้นคนประเภทไหนก็พ้นทุกข์ได้หมด จะกินเหล้าเมายา จะมอมเมาสิ่งไหนก็ชั่ง เพียงแค่นั่งหลับตาแล้วคิดอยากจะพ้นทุกข์แล้วก็พ้นทุกข์ได้เลยนั้น มันไม่ได้

คนที่จะพ้นทุกข์ได้ไม่ใช่บุคคลที่เหลวไหล แต่เป็นบุคคลใส่ใจที่จะทำตามคำของพระพุทธเจ้า เมื่อไปอยู่สำนักไหนก็ทำตามกฏระเบียบปฏิปทาของครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด บุคคลอย่างงั้น ท่านจึงจะเบาใจได้ ไม่ใช่เบาใจเฉพาะเพียงแค่เขาพูดง่ายนะ ต่อไปข้างหน้า เขาจะเอาธรรมะเอาปฏิปทาของท่านไปบอกสอน เพราะว่าท่านทุ่มเททั้งจิตทั้งใจของท่าน

ท่านทุ่มเทที่จะประพฤติปฏิบัติ รักษากฏระเบียบตัวนั้นมา และทุ่มเทในการประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะได้ธรรมมาครอง คนที่จะได้ธรรมไม่ใช่คนที่เหลวไหล ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นคนที่มีกฏ มีระเบียบ มีความเพียร มีปัญญา ลูกศิษย์ลูกหาที่มาประพฤติปฏิบัติ ก็ต้องใส่ใจในปฏิปทาของครูบาอาจารย์ เพราะว่าท่านได้ทำด้วยความเพียรของท่าน ท่านได้รักษาเหมือนจิตใจของท่าน ถ้าเรามาเหยียบมาย่ำมาทำลาย ก็เหมือนทำลายจิตใจของท่าน คนที่จะเป็นลูกศิษย์กันได้ ต้องเป็นได้ด้วยใจ คือทำตามปฏิปทาที่ออกมาจากใจของท่าน ท่านทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ท่านสุขก็สุขด้วย ท่านพาทำอย่างไรเราก็ทำ สิ่งไหนที่ท่านไม่ทำเราก็ไม่ทำเหมือนกัน สิ่งไหนท่านเคยบอกเคยสอนเคยอบรมไว้เราก็จำไว้และก็นำไปประพฤติปฏิบัติ

แม้กระทั่งเวลาเดินไปกับท่าน ลูกศิษย์ลูกหาถ้าจะเอาจริงๆต้องห่างประมาณสองศอก เกิดเวลาที่หยุดจะได้ไม่ชนท่าน ให้เดินอยู่ทางซ้ายมือ นี่แสดงออกถึงความเคารพ ส่วนใหญ่คนจะไม่ค่อยรู้จัก เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เวลาเห็นรอยเท้าของท่าน ลูกศิษย์ลูกหาจะไม่กล้าที่จะเหยียบซ้ำรอยเดิมด้วยความเคารพ สิ่งเหล่านี้มันออกมาจากคุณธรรมของบุคคลนั้นๆ แสดงถึงคุณธรรมของบุคคลนั้นๆที่มีต่อครูบาอาจารย์ หรือว่าต่อไปข้างหน้าเขาจะเบ่งบานในธรรม เขาต้องเป็นที่มีความฉลาดมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ถึงจะเดินตามรอยของครูบาอาจารย์ได้

สิ่งเหล่านี้เป็นจิตสำนึกที่ลูกศิษย์ลูกหาที่มีต่อครูบาอาจารย์ ผู้ที่จะทำตามปฏิปทาของท่านต้องทำด้วยใจ ถือด้วยใจ ปฏิบัติด้วยใจ มันจึงมีน้อยบุคคลเหล่านี้หน่ะ บุคคลที่ตั้งใจ ท่านจึงบอกได้ บุคคลไหนเดินตามปฏิปทาของท่าน เคารพนับถือท่าน ไม่ว่าทางกาย ไม่ว่าทางวาจา ไม่ว่าทางใจ แสดงออกอยู่ทุกเวลา ไม่มีกาล ไม่มีเวลา แม้ต่อหน้า หรือว่าลับหลัง มีความเคารพบูชาอยู่อย่างงั้นตลอดเวลา เหมือนที่พวกเราเคารพพระพุทธเจ้ามีความนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่มีสมัย ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน เคารพอยู่อย่างนั้น

ผู้ถึงซึ่งพระพุทธเจ้า ผู้สามารถที่จะน้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นสรณะ ไตรสรณะคมนี่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆนะ ผู้เข้าถึงซึ่งพระไตรสรณะคมหมายถึงพระโสดาบัน ผู้ที่ขอรับเอาพระไตรสรณคมไปปฏิบัติ กับผู้ที่เข้าถึงพระไตรสรณคมไม่เหมือนกัน ผู้ที่เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริงคือพระโสดาบัน ไม่ได้เข้าง่ายๆ ถ้าหากว่าเราเคารพนับถือขอถึงกับเข้าถึงไม่เหมือนกัน คือแต่ก่อนเรายังไม่เคารพเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อได้ฟังธรรมะเกิดความเลื่อมใสขึ้นมาก็เลยขอเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ แต่เมื่อขอถึงแล้ว มาประพฤติปฏิบัติสามารถที่จะกำจัดสังโยชน์ กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจของตนเองออกไปได้ จึงเป็นผู้เข้าถึงซึ่งคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หมดความลังเลสงสัย กำจัดวิจิกิจฉาลังเลสงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในเรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องคุณเรื่องโทษ

เมื่อไม่มีความลังเลสงสัยแล้ว ไม่มีความสงสัยในศีลในธรรม ศีลก็บริสุทธิ์ขึ้นมา เพราะเห็นคุณของศีล เห็นโทษของการละเมิดศีล ศีลจึงเป็นความปกติขึ้นมาในจิต คือไม่มีการฆ่าสัตว์ ไม่มีการลักทรัพย์ ไม่มีการประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ไม่ดื่มสุราเมรัยหรือไม่มั่วอบายมุขทั้งหลาย เป็นความปกติอยู่ในจิตของตัวเองอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปสมาทานขอเอา เป็นความบริสุทธิ์ของจิต เป็นความบริสุทธิ์ของศีล ไม่มีขาด ไม่มีทะลุ ไม่มีด่างพล้อย เพราะว่าเป็นศีลบริสุทธิ์แล้วขึ้นมาในตัวจิตของพระโสดาบัน เพราะหมดความลังเลสงสัยในเรื่องศีล ในเรื่องของคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์

มีการพิจารณากายของตัวเองว่าเป็นของไม่เที่ยงอยู่เสมอ เป็นของปฏิกูลสกปรกอยู่เสมอ ถึงจะยังหลงอยู่แต่ก็ไม่ลืมความตาย สักวันก็ต้องตาย พิจาณาอยู่สม่ำเสมอถึงความไม่เที่ยงของกาย มีความเห็นว่ากายของตนเองเป็นของสกปรก ถึงจะละไม่ได้ก็ชั่ง เพราะว่าภูมิของพระโสดาบันได้เท่านั้น

เดินตามปฏิปทาของพระพุทธเจ้าที่ท่านได้เคยบอกเคยสอน ลูกศิษย์ลูกหาเวลามาประพฤติปฏิบัติ เป็นศิษย์มีครูก็ต้องเดินตามรอยของครูบาอาจารย์ เพราะแต่ละที่แต่ละสำนักท่านจะรับรองไม่กี่คนหรอก เพราะบุคคลเช่นนั้นสามารถที่จะเอาปฏิปทาของท่านไปดำเนินได้ เอาปฏิปทาของท่านไปเผยแพร่ให้คนทั้งหลายได้รู้จัก ได้เดินตาม เพราะฉะนั้นถ้าจะเป็นศิษย์มีครูต้องมีปฏิปทาของครูบาอาจารย์ ต้องนำปฏิปทาของครูบาอาจารย์ไปดำเนิน เหมือนเป็นระเบียบบังคับ บังคับทั้งกาย บังคับทั้งวาจา บังคับทั้งใจของเราให้เดินตามรอย เพราะว่าใจของเรา ถ้ายังฝึกไม่ได้ มันยังเชื่อไม่ได้อยู่ เพราะจิตของเรามันยังเจือด้วยกิเลส เชื่อยังไม่ค่อยได้ ต้องอาศัยปฏิปทา ต้องอาศัยกฏระเบียบบังคับมันไว้ บางครั้งมันก็ขี้เกียจ บางครั้งมันก็ขยัน บางครั้งมันก็ผ่องใส บางครั้งมันก็วุ่นวายเศร้าหมอง ถ้ามันเศร้าหมองมันก็ไม่อยากทำคุณงามความดีอะไร แม้แต่ไหว้พระสวดมนต์ กราบพระมันก็ยังไม่อยากกราบ แต่ถ้าเรามีปฏิปทานี่ ขี้เกียจก็ทำ ขยันก็ทำ วุ่นวายก็ทำ ผ่องใสก็ทำ กฏระเบียบทั้งหลายปฏิปทาทั้งหลายมันจะบังคับไว้ ถือปฏิปทาก็ถือด้วยจิตด้วยใจ ถือธรรมของพระพุทธเจ้าก็ถือด้วยจิตด้วยใจ ไม่ได้ถือใจของตัวเองเลย จนฝึกใจมาเป็นธรรม ธรรมกับใจเป็นอันเดียวกัน มันถึงเชื่อกันได้ มันถึงจะเป็นได้ มันถึงจะพาใจของเราพ้นทุกข์ได้ เพราะธรรมนั่นหล่ะ ไม่ใช่อันอื่นเลย ไม่ใช่เรื่องของกิเลสทั้งหลายที่จะพาใจเราพ้นทุกข์ ถ้าไม่มีปฏิปทาไม่มีกฏระเบียบ ใจมันก็ไม่มีที่พึ่ง พอใจไม่มีที่พึ่ง มันก็ไปพึ่งกิเลส จึงเป็นเหตุแห่งทุกข์

เพราะว่าคนทั้งหลายจะมั่นคงในธรรม จะเจริญไปข้างหน้าได้ต้องมีปฏิปทาเป็นเครื่องดำเนินถึงจะไปได้ เพราะว่าใจของเรามันวอกแวกหวั่นไหว มันยังห่วงตนเอง หลงตนเอง จนลืมธรรม บางครั้งจนลืมครูบาอาจารย์ที่บอกที่สอน เพราะความห่วงตัวเอง ถ้าจะประพฤติปฏิบัติท่านจึงบอกว่า เสี่ยงตาย คือทิ้งตัวเองไปเลย เอาธรรมมาใส่แทน ให้คำว่าตัวเองที่ยังมีกิเลสอยู่ เอาออกไปเลย ให้มันตายไปเลย เอาใจที่มันเป็นธรรมขึ้นมาใหม่ เอาจิตดวงใหม่ขึ้นมา จิตที่มันเป็นธรรม จิตที่มันเป็นศีล จิตที่มันมีครูบาอาจารย์ จิตที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัยเอามาใส่แทน จิตที่เหลวไหลห่วงตัว เอาทิ้งออกไป กลัว เจ็บ กลัวตาย กลัวลำบาก กลัวกิเลส เอามันออกไป ด้วยการมาฝึกฝน เรื่องของธรรมสำคัญมาก เรื่องของปฏิปทาสำคัญมาก เพราะว่าถอดออกมาจากจิตจากใจของท่าน เอามาสอนพวกเรา เพราะว่าท่านดำเนินมาอย่างงี้ ท่านจึงมีธรรมะขึ้นมาครองในใจของท่าน ไม่ใช่จะเป็นคนยังไงก็ได้ จะเป็นพระยังไงก็ได้ จะทำอย่างไงก็ได้ อย่างนั้นธรรมไม่เกิดหรอก ธรรมจะเกิดต่อผู้นอบน้อมต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีปฏิปทาเป็นเครื่องดำเนิน รักษากาย วาจา จิตของตนเองอยู่อย่างนั้น เป็นผู้มีสติบริบูรณ์ ไม่ว่ากาย ไม่ว่าวาจา ไม่ว่าใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อยู่ด้วยสติเป็นผู้รักษา เป็นผู้ดูแล ใจของเราถึงจะไปได้

บางครั้งเราประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ ยังตื่นตัวอยู่ อะไรก็อยากทำไปหมด เวลานานไปแล้ว กิเลส หยาบ กลาง ละเอียด มันแฝงตัวขึ้นมา มันแทรกตัวขึ้นมา มันเลยทำให้เราเห็นว่าเป็นของยาก เป็นของลำบาก แต่ก่อนเราประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ มันเป็นของง่ายๆ ทำอะไรก็ดูง่ายๆ แต่ว่าคนเราจะถึงจุดมุ่งหมายต้องอาศัยสิ่งที่มากระทบ ต้องอาศัยวันเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าใจของเราจะหวั่นไหวไปตามกิเลสมั๊ย ใจของเราจะหนักแน่นในธรรมมั๊ย ถ้าเราไม่มีปฏิปทาแน่นอน ใจของเราย่อมหวั่นไหว ที่สุดแล้วต้องทิ้งธรรมไปเลย ถ้าเรามีปฏิปทาเป็นเครื่องดำเนิน ถึงกิเลสมันจะรบกวนจิตใจมากขนาดไหน จิตใจจะเศร้าหมองขนาดไหน แต่ว่าเรามีปฏิปทา เรามีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง มีหลักของใจอยู่อย่างนั้น มันไม่หวั่นไหว ที่สุดแล้วทุกๆสิ่งทุกๆอย่าง เวลาใจของเราได้ฝึกได้ฝนได้อบรมมากๆ มันแข็งมันแกร่งขึ้นมา จิตใจแกร่งด้วยศีล จิตใจแกร่งด้วยสติ แกร่งด้วยธรรม แกร่งด้วยขันติ แกร่งด้วยวิริยะ แกร่งด้วยความศรัทธา แกร่งด้วยสมาธิ แกร่งด้วยปัญญา มันแข็งมันแกร่งเหมือนดั่งเพชร เป็นบุคคลใจเพชร ไม่ยอมให้กิเลสเลย บุคคลแบบนั้นถึงจะมีธรรมมาครอง ถึงจะได้ธรรมมาครอง ไม่ใช่การปฏิบัติธรรมเพียงแค่การได้นั่งสมาธิก็จะบรรลุธรรมไปเลย เพราะว่าคนเราไม่ได้อยู่กับการนั่งสมาธิตลอดเวลา อริยาบทนี้มันก็เป็นบางเวลาเท่านั้น เวลาอื่นๆเราก็ต้องไปทำอย่างอื่่น นี่ละกฏระเบียบทั้งหลาย ปฏิปทาทั้งหลาย ธรรมทั้งหลาย จึงเป็นเครื่องคลุม เวลาเรานั่งสมาธิ อะไรมันก็ไม่มากวน แต่บางครั้งกิเลสมันก็เข้ามากวนจิตอยู่ แต่ว่ากายของเราไม่ไปทำสิ่งอื่น วาจาของเราไม่ไปทำสิ่งอื่น ในขณะนี้มันก็ดูพอใช้ได้ แต่เวลาออกจากการนั่งสมาธิ ออกจากการทำความเพียร ถ้าหากเราไม่มีปฏิปทา รับรองหวั่นไหวแน่นอน ปฏิปทาทั้งหลายจึงเป็นเครื่องคลุมจิตใจของเราไม่ให้หวั่นไหวไปตามกิเลสทั้งหลาย...